พัฒนาการด้านคณิตศาสตร์
ของเด็กแต่ละช่วงอายุ
คุณเคยสงสัยรึเปล่าว่าเด็กเล็กก่อนวัยเรียนและวัยอนุบาลควรมีพัฒนาการทางคณิตศาสตร์ในระดับไหนก่อนที่ลูกเข้าเรียนคณิตศาสตร์อย่างจริงจังในชั้นประถม
เนื่องจากการเรียนรู้เรื่องคณิตศาสตร์กลายเป็นเรื่องท้าทายสำหรับเด็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่หลายๆ คนก็พยายามให้ลูกได้คุ้นเคยกับตัวเลขตั้งแต่เล็กแต่น้อยกันมากขึ้นเรื่อย ๆ เรามาดูรายละเอียดกันดีกว่าว่าเด็กเล็กแต่ละวัย ควรจะมีพัฒนาการทางคณิตศาสตร์ตามธรรมชาติอย่างไรบ้าง
เลขสำหรับเด็กช่วง 1-2 ปี
คณิตศาสตร์มีอยู่ทุกที่ และกระทั่งในวัยแค่ 1-2 ขวบ คุณก็สามารถกระตุ้นพัฒนาการทางคณิตศาสตร์ของลูกได้โดยการสอนให้ลูกรู้จักตัวเลขและนับเลขจาก 1 ถึง 10 ให้ลูกฟัง เด็ก ๆ ส่วนมากสามารถเรียงลำดับค่าตัวเลขน้อยไปหามากได้ด้วย นอกเหนือจากตัวเลขแล้ว เด็กวัยคลานย่อมสนใจเรื่องรูปร่างสิ่งต่าง ๆ รอบตัวและจดจำรูปร่างพื้นฐานอย่าง วงกลม สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม และสี่เหลี่ยมได้ นอกจากนี้ อย่าหยุดยั้งลูกให้แค่จดจำได้ แต่กระตุ้นให้ลูกได้นับสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวด้วย จำไว้ว่าการฝึกซ้อมและทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ เป็นกุญแจสำคัญในพัฒนาการด้านคณิตศาสตร์ของเด็กในวัยนี้
คณิตศาสตร์กับเด็กช่วง 3-4 ปี
ในวัยนี้ เด็กหลาย ๆ คนจะเริ่มลองเขียนแล้ว รวมถึงการเขียนตัวเลขในรูปของแบบฝึกหัดนับเลขตามลำดับและเขียนวันที่ด้วย เมื่อเด็กมีพัฒนาการทางคณิตศาสตร์ เด็กก็รับรู้ว่าสามารถใช้ร่างกายของตัวเองช่วยได้ ดั้งนั้นลูกก็จะนับจาก 0 ถึง 10 ได้โดยใช้นิ้วมือด้วยตัวเอง เด็กหลาย ๆ คนก็ก้าวผ่านการนับจาก 0 ถึง 10 เพื่อนับเลขมากกว่านั้น บางคนนับไปได้ถึง 100 ก็มี พัฒนาการทางคณิตศาสตร์ของเด็กจะก้าวหน้าไปอีกโดยที่เด็กหลาย ๆ คนสามารถเปรียบเทียบปริมาณ ขนาด ความยาว น้ำหนัก และกระทั่งความเร็ว และบอกเวลาจากนาฬิกาได้ด้วย
พัฒนาการทางคณิตศาสตร์ในเด็กแต่ละคนไม่เท่ากัน ไม่มีใครที่จะมีความเร็วในพัฒนาการได้เท่ากันเป๊ะ ๆ
คณิตศาสตร์กับเด็กอายุ 5-6 ปี
วัยนี้เป็นช่วงพัฒนาการที่สำคัญ ลูกควรสามารถบวกลบเลขง่าย ๆ ที่มีผลรวมไม่เกิน 10 เช่น 1+9, 4+6, 8+2 เด็กควรสามารถแยกแยะเลขคู่ เลขคี่ได้และนับเลขคู่คี่ตามลำดับได้ เช่น การนับเลขคู่ก็ต้องนับว่า 2, 4, 6, 8 และเลขคี่ก็จะนับว่า 3, 5, 7 เป็นต้น เด็กบางคนที่ได้ฝึกฝนเพิ่มเติมมากกว่านี้ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้านก็ควรสามารถท่องสูตรคูณแม่ 1 ถึง แม่ 5 ได้ เด็กในวัยนี้ควรสามารถบอกเวลาจากนาฬิกาได้และนับเงินได้อย่างคล่องแคล่ว
หากลูกมีพัฒนาการตามลำดับ ลูกก็พร้อมที่จะรับมือกับการเรียนคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนได้ แต่ถ้าลูกดูเหมือนว่าจะขาดตกบกพร่องอะไรไปจากที่ระบุไว้ในบทความนี้ก็อย่าได้เศร้าใจไป เพราะในบทความนี้ก็เป็นเพียงแนวทางพัฒนาการ และไม่ใช่เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าถ้าเด็กมีพัฒนาการตามนี้ เด็กจะเป็นอัจฉริยะทางคณิตศาสตร์ สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือคุณต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ลูกได้เรียนรู้และสนุกสนานไปกับคณิตศาสตร์เมื่อได้เรียนที่โรงเรียน
ที่มา https://th.theasianparent.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น